วิธีลดอาการปวดเมื่อย หลังจาก “นั่งนานๆ”
วิธีลดอาการปวดเมื่อย หลังจาก “นั่งนานๆ”
อาการ ”ปวด” ถือเป็นสิ่งดี ในทางธรรมชาติบำบัด เป็นเสมือนระฆังที่ส่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่าร่างกายเรานั้น กำลังมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น
สาเหตุของอาการ “ปวด”
คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการปวดเมื่อยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปวดคอ ปวดหัว ปวดไหล่ ปวดขึ้นไปกะโหลกศีรษะ ปวดเข้ากระบอกตา ปวดบ่า ปวดสะบัก ปวดหลัง ปวดเอว ปวดก้น ปวดขา ปวดเข่า หรือปวดไปจนถึงข้อเท้า ฝ่าเท้าหรือที่เรียกรองช้ำ ว่ามีสาเหตุมาจาก 2 ประการคือ
10% ของอาการปวดมาจากโรค เช่น มะเร็ง โรคไต โรคนิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น อาการปวดที่เกิดจากโรค ส่วนใหญ่มักไม่มีสาเหตุที่ทำให้ความปวดชัดเจน คิดจะปวดเมื่อไหร่ก็ปวด เช่น มักปวดในเวลากลางคืน จนทำให้ตื่น หรือแม้นั่งพักเฉยๆ ก็ปวด
อีก 90% มาจากความผิดปกติของโครงสร้างร่างกาย อาการปวดเกิดจากโครงสร้างร่างกายที่ผิดปกติ จะมีกลไกบ่งบอกอาการปวดที่ชัดเจน เช่น นั่งก้มทำงานนานไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ก็จะรู้สึกปวด หากได้นอนพัก ก็จะหาย อาการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลของโครงสร้างร่างกายอย่างชัดเจน
“นั่งนาน” จนปวด มีวิธีแก้อย่างไร?
อาการปวดเมื่อยจากการนั่งนานๆ ก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการดังนี้
- ขยับตัวบ่อยๆ นั่งนิ่งๆ ให้น้อยที่สุด เคลื่อนไหวให้มาก ลุกเดินได้ให้เดิน บิดตัวได้ให้บิด เหยียดแขนได้ให้เหยียด ไม่ให้กล้ามเนื้อต้องเกร็งอยู่ท่าเดิมนานๆ เพราะจะทำให้เลือดไม่ไหลเวียน ของเสียคั่ง กลายเป็นอาการปวด
- นั่งหลังตรง ไหล่ไม่ห่อ คอไม่ยื่น ฝืน เปิดไหล่-ดึงสะบักผลักไปด้านหลังตลอดเวลา (ที่นึกได้)
- เลื่อนตัวเข้าใกล้คีย์บอร์ด หรือโต๊ะเขียนงาน เพื่อป้องกันการก้มคอ ห่อไหล่ หลังโก่ง
- ไม่นั่งไขว่ห้าง หรือกางขามากจนเกินงาม
- นั่งลงน้ำหนักตรงกลางก้นสองข้างให้เท่ากัน ป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังคด
- ไม่ตั้งแก้วน้ำที่โต๊ะทำงาน ป้องกันการนั่งแช่ และจะได้ขยับเคลื่อนไหวร่างกาย ไปกินน้ำได้บ่อยๆ ถือเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ
- เดินเข้าห้องน้ำ ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เดินเปิดไหล่หมุนแขน ออกแรงประสานมือเหยียดไปด้านหลัง และยืดอก ยกและยืดตัวหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ
ท่าเหล่านี้ ไม่ยาก แต่ไม่ง่ายถ้าไม่คิดจะทำ ป้องกันอาการปวดเมื่อยได้จริง มีงานวิจัยหลายฉบับ ยืนยันแล้วว่า เก้าอี้ที่นั่ง โต๊ะที่ทำงานที่เซ็ตไว้ จะถูกต้องตามหลักมากแค่ไหน หากไม่ยอมขยับตัวลุก ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ก็ทำให้เป็นสาเหตุของอาการปวดเมื่อยได้มากเหมือนเดิม ลุกขึ้นขยับตัว บิดขี้เกียจ ชั่วโมงละนิด ชีวิตจะไม่ปวดเมื่อยค่ะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น